Subscribe:

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

โรคและแมลงศัตรู


ปัญหาที่สำคัญในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ก็คือ โรคและแมลงรบกวน โรคของกล้วยไม้มีหลายชนิด บางชนิดทำให้กล้วยไม้ตายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เชื้อโรคและแมลงศัตรูที่เข้าทำลายกล้วยไม้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และขยายพันธุ์รวดเร็ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การป้องกันกำจัดได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง โรคและแมลงศัตรูของกล้วยไม้ที่พบมีดังนี้

โรคเน่าดำหรือยอดเน่า

โรคเน่าดำหรือยอดเน่า หรือ เรียกว่าโรคเน่าเข้าไส้ โรคนี้สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora

ลักษณะอาการ

โรคนี้สามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้ทุกส่วน ถ้าเชื้อราเข้าทำลายที่ราก รากจะเน่าแห้ง ซึ่งมีผลทำให้ใบเหลือง ร่วง และตายในที่สุดถ้าเชื้อราเข้าทำลายยอดจะทำให้ยอดเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อจับจะหลุดติดมือได้ง่าย และถ้าแสดงอาการรุนแรงเชื้อราจะลุกลามเข้าไปในลำต้น เมื่อผ่าดูจะเห็นเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มตามแนวยาวของต้น โรคนี้จะแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือช่วงที่มีความชื้นสูง

การป้องกันและกำจัด

ควรปรับสภาพเรือนกล้วยไม้ให้โปร่ง ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป ถ้าพบโรคนี้ในระยะเป็นลูกกล้วยไม้ให้แยกกระถางที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย ถ้าเป็นกับกล้วยไม้ที่ใดแล้วควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกเสียจนถึงเนื้อดี แล้วใช้ยาฉีดพ่น ยาป้องกันกำจัดเชื้อราจะต้องใช้ชนิดที่สามารถป้องกันเชื้อราชนิดนี้โดยตรง เช่น ไดโพลาแทน, ริโดมิล, เทอราโซล สำหรับการใช้ยาประเภทดูดซึมมีข้อควรระวัง คือ อย่าให้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เชื้อราดื้อยา ควรผสมกับยาชนิดอื่น เช่น แมนโคเซป หรือใช้ยาสูตรที่ผสมมาให้เรียบร้อยแล้ว เช่น ริไดมิล เอ็มแซด หรืออาจใช้สลับกันระหว่างยาดูดซึมจะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะสารเคมีแต่ละตัวมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อราได้แตกต่างกัน

โรคดอกสนิมหรือจุดสนิม

เป็นโรคที่จักกันดีในหมู่ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อตัดดอกเป็นขายต่างประเทศ บางอาจแสดงอาการระหว่างการขนส่ง เป็นมากกับกล้วยไม้สกุลหวายโดยเฉพาะหวายมาดาม หวายขาว หวายชมพูและหวายซีซาร์ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis






ลักษณะอาการ

ปรากฏอาการบนกลีบดอกกล้วยไม้ อาการเริ่มแรกเป็นจุดขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลือง เมื่อจุดเหล่านี้ขยายโตขึ้นจะเข้มเป็นสีสนิม มีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1–0.3 มิลลิเมตร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวสวนกล้วยไม้นิยมเรียกว่า “โรคราสนิม” ลักษณะดังกล่าวจะปรากฎชัดเจนบนดอกหวายมาดาม แต่อาการบนหวายขาวจะเป็นแผลสีน้ำตาลไม่เป็นแผลสีสนิมชัดเจนอย่างบนหวายมาดาม โรคนี้ระบาดได้ดีในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะถ้ามีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือมีน้ำค้างลงจัด โดยจะระบาดติดต่อกันรวดเร็วทั่วทั้งรังกล้วยไม้และบริเวณใกล้เคียง

การป้องกันและกำจัด

หมั่นตรวจดูแลรังกล้วยไม้ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมออย่าปล่อยให้ดอกกล้วยไม้บานโรยคาต้น เพราะจะเป็นแหล่งให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เก็บรวบรวมดอกที่เป็นโรคให้หมดแล้วนำไปเผาทำลายเสีย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรค หลังจากนั้นจึงฉีดพ่นสารเคมี เช่น ไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟหรือมาเน็กซ์ โดยในช่วงฤดูฝนควรฉีดพ่นให้ถี่ขึ้น

โรคใบปื้นเหลือง

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudocercospora dendrobii พบมากในกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ ระบาดมากตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว โดยสปอร์ของเชื้อราจะแพร่กระจายไปกับลมและกระเด็นไปกับละอองน้ำที่ใช้รดต้นกล้วยไม้

ลักษณะอาการ

จะเกิดบนใบของกล้วยไม้โดยเฉพาะที่อยู่โคนต้นก่อนโดยใบจะมีจุดกลมสีเหลือง เมื่อเป็นมากๆ จะขยายติดต่อกันเป็นปื้นเหลืองตามแนวยาวของใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นเป็นกลุ่มผงสีดำ ในที่สุดใบที่เป็นรุนแรงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ พร้อมทั้งร่วงหลุดออกจากต้นในที่สุด ทำให้ต้นกล้วยไม้ทิ้งใบหมด

การป้องกันและกำจัด

ควรเก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย และรักษารังกล้วยไม้ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการทำลายเชื้อและลดปริมาณของเชื้อราในรังกล้วยไม้ และฉีดพ่นด้วยยาเดลซีนเอ็มเอ็ก 200, ไดเทนเอ็ม 45, เบนเลททุกๆ 7–10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค




           แหล่งที่มา   panmai.com

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์กล้วยไม้เพื่อประโยชน์หลายประการคือ เพื่อเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้กล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้นานจนเป็นกอใหญ่และมีสภาพทรุดโทรมให้กลับมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และเพื่อเป็นการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ให้ได้กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ที่ดีขึ้น การขยายพันธุ์กล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธี แต่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ ซึ่งในแต่ละแบบแต่ละวิธีมีจุดมุ่งหมายและผลที่ได้แตกต่างกัน

การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร

หมายถึงการนำส่วนใดส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ที่ไม่ใช่ผลจากการผสมเกสรไปขยายพันธุ์ เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้ต้นใหม่ที่มีสายพันธุ์เหมือนต้นพันธุ์เดิมทุกประการ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์กล้วยไม้ต้นที่มีคุณลักษณะดีอยู่แล้ว เช่น มีความสวยงามเป็นพิเศษ หรือมีลักษณะที่เหมาะสมแก่การเป็นกล้วยไม้ตัดดอก การขยายพันธุ์กล้วยไม้โดยไม่มีการผสมเกสรแบ่งวิธีการขยายพันธุ์ตามลักษณะการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ดังนี้

การตัดแยกกล้วยไม้ประเภทแตกกอ

กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบประเภทแตกกอหรือแบบซิมโพเดียล เช่น หวาย แคทลียา เมื่อหน่อหรือลูกกล้วยใดผลิดอกและต้นเริ่มร่วงโรย หน่อนั้นจะแตกหน่อใหม่ออกมาทดแทนทำให้กอแน่นขึ้น หากปล่อยให้กอแน่นเกินไปกล้วยไม้อาจทรุดโทรมเพราะมีธาตุอาหารไม่เพียงพอ เมื่อเห็นกอแน่นควรตัดแยกไปปลูกใหม่จะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ได้กล้วยไม้เพิ่มขึ้นและทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามดี การตัดแยกกล้วยไม้ไม่ควรทำในช่วงที่กล้วยไม้พักตัวในช่วงฤดูหนาว ควรทำในช่วงต้นฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ต้นไม้เจริญเติบโตดีและแตกหน่อใหม่ เครื่องมือที่ใช้ในการขยายพันธุ์คือมีดและปูนแดง สำหรับการขยายพันธุ์สามารถทำได้หลายวิธีคือ

การตัดแยกลำหลัง

เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้ได้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอที่มีลำลูกกล้วย เช่น กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลหวาย สกุลออนซิเดี้ยม เมื่อปลูกเลี้ยงนานจะมีกอขนาดใหญ่ขึ้นและมีลำลูกกล้วยมากขึ้น ถ้าไม่มีการตัดแยกออกจะทำให้ต้นทรุดโทรมและออกดอกน้อย การตัดแยกลำหลังนอกจากจะเป็นการขยายพันธุ์แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้กล้วยไม้เจริญเติบโตเร็วขึ้นและออกดอกง่ายขึ้นด้วย
การตัดแยกลำหลัง กล้วยไม้ที่จะตัดแยกควรมีลำลูกกล้วยอย่างน้อย 4 ลำ เพราะการตัดแยกแต่ละต้นที่ตัดแยกควรมีลำลูกกล้วยอย่างน้อย 2 ลำ และควรตรวจดูตาที่โคนลำหลังถ้าตาแห้งตายไปแล้วการตัดแยกจะไม่ได้ผล ใช้มีดหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ชนิดใบบางที่คมๆ สอดเข้าไประหว่างลำลูกกล้วยแล้วตัดส่วนของเหง้าให้ขาดจากกัน ใช้ปลายมีดแบนๆ ป้ายปูนแดงแล้วทาที่บาดแผลให้ทั่ว เพื่อให้แผลแห้งและเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะเข้าทำลายทางบาดแผลด้วย เนื่องจากลำหลังเป็นลำแก่ที่อยู่ในระยะฟักตัว ถ้ายกไปปลูกเลยรากแก่อาจจะชำรุดได้ รากใหม่ก็ไม่มีโอกาสเจริญออกมา จะทำให้การแตกหน่อล่าช้าและได้หน่อใหม่ที่ไม่แข็งแรง การตัดแยกเพื่อให้เกิดลำใหม่เร็วควรทำในช่วงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นระยะที่ต้นกล้วยไม้เริ่มจะเกิดหน่อใหม่หลังจากฟักตัวในช่วงฤดูหนาว หน่อใหม่จะเจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมที่จะยกออกไปปลูกได้ในช่วงฤดูฝนพอดี

การตัดแยกลำหน้า

เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอทุกชนิด ลำหน้าเป็นลำกล้วยไม้ที่กำลังเจริญเติบโตและเป็นลำที่จะให้ดอก จึงไม่ค่อยนิยมตัดแยกลำหน้าไปปลูกใหม่ นอกจากมีความจำเป็นในบางกรณี เช่น กล้วยไม้เจริญเติบโตเป็นกอใหญ่จนเต็มล้นกระถางปลูกหรือเครื่องปลูกเน่าเปื่อยผุพัง จำเป็นต้องรื้อออกจากกระถางเก่าทั้งหมดแล้วนำไปตัดแบ่งแยกปลูกใหม่ หรือเป็นการตัดแยกลำหน้าเพื่อจำหน่ายซึ่งได้ราคาสูงกว่าการจำหน่ายกล้วยไม้ลำหลัง
วิธีการตัดแยกลำหน้า ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการแยกลำหลังไปปลูก คือปล่อยให้ลำหน้าเจริญเต็มที่จนถึงสุดขีดแล้วจะแตกหน่อใหม่จากตาจนกระทั่งหน่อที่เกิดใหม่มีรากโผล่ออกมาจึงตัดแยกไปปลูก โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดแยกลำหน้า 2 ลำติดกัน แล้วแยกไปปลูกได้เลย ซึ่งต่างจากการตัดแยกลำหลังที่ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้แตกหน่อใหม่ก่อนจึงจะยกไปปลูกได้ ระยะเวลาที่เหมาะที่สุดในการตัดแยกลำหน้าคือ เมื่อลำหน้าสุดมีรากและรากยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร การนำลำหน้าไปปลูกควรระวังอย่าให้รากอ่อนของลำหน้าสุดบอบช้ำ

                                        

                                                        การตัดชำ

การขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดชำใช้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอบางชนิด เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย ซึ่งเมื่อนำลำลูกกล้วยมาปักชำในที่เหมาะสมตาที่อยู่ตามข้อของลำลูกกล้วยจะแตกออกเป็นลำใหม่ได้ สำหรับลำหวายที่จะนำมาปักชำควรเป็นลำหลังที่ใบร่วงหมดแล้ว ถ้ายังมีใบติดอยู่ควรปลิดออกให้หมดและตัดรากออกให้หมด นำมาปักชำในกระบะทรายหยาบหรือกาบมะพร้าวอัดในแนวตั้งโดยให้โคนลำฝังลงไปประมาณ 2-3 ซม. ห่างกันประมาณ 4-5 ซม. เก็บไว้ในที่มีแสงแดดค่อนข้างจัด ให้โดนแดดเต็มที่เกือบครึ่งวัน รดน้ำให้ชุ่มวันละ 2–3 ครั้ง ตาที่อยู่ใกล้ปลายลำจะแตกเป็นลำใหม่ เรียกว่า “ตะเกียง” เมื่อลำตะเกียงเริ่มเกิดรากจึงตัดนำไปปลูกได้






              แหล่งที่มา   panmai.com

การจำแนกกล้วยไม้

      การจำแนกประเภทของกล้วยไม้ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะภายนอก เพื่อสะดวกในการปลูกเลี้ยง การขยายพันธุ์ ตลอดจนการศึกษาค้นคว้า ซึ่งการจำกล้วยไม้สามารถจำแนกได้ดังนี้

     จำแนกตามลักษณะราก

เป็นการจำแนกตามลักษณะรากหรือตามระบบรากของกล้วยไม้

                              

                                                               ระบบรากดิน

จัดเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากเกิดจากหัวที่อวบน้ำอยู่ใต้ดิน ตัวรากจะมีน้ำมาก เช่นกล้วยไม้สกุลนางอั้ว กล้วยไม้ประเภทนี้พบมากบริเวณพื้นที่ที่มีสภาพอากาศในฤดูกาลที่ชัดเจน เช่น ฤดูฝนมีฝนตกชุก และมีฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูฝนหัวจะแตกหน่อใบอ่อนจะชูพ้นขึ้นมาบนผิวดิน และออกดอกในตอนปลายฤดูฝน เมื่อพ้นฤดูฝนไปแล้วใบก็จะทรุดโทรมและแห้งไป คงเหลือแต่หัวที่อวบน้ำและมีอาหารสะสมฝังอยู่ใต้ดินสามารถทนความแห้งแล้งได้







                                                                ระบบรากกึ่งอากาศ

เป็นระบบรากที่มีเซลล์ผิวของรากมีชั้นเซลล์ที่หนา และมีลักษณะคล้ายฟองน้ำผิวนอกเกลี้ยงไม่มีขน มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เก็บและดูดน้ำได้มาก สามารถนำน้ำไปใช้ตามเซลล์ผิวได้ตลอดความยาวของราก ระบบรากกึ่งอากาศมักมีรากแขนงใหญ่หยาบอยู่กันอย่างหนาแน่นไม่มีรากขนอ่อน รากมีขนาดเล็กกว่ารากอากาศ กล้วยไม้ระบบรากกึ่งอากาศได้แก่ กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลออนซิเดี้ยม เป็นต้น
        



                                                                      ลำต้นเทียม

หรือที่เรียกว่า ลำลูกกล้วย ซึ่งทำหน้าที่สะสมอาหาร ตาที่อยู่ตามข้อบนๆ ของลำลูกกล้วยสามารถแตกเป็นหน่อหรือช่อดอกได้ แต่ลำต้นที่แท้จริงของกล้วยไม้ประเภทนี้คือ เหง้า ซึ่งเจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก ลักษณะของเหง้ามีข้อและปล้องถี่ กล้วยไม้ที่มีลำต้นลักษณะนี้ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย แคทลียา เอพิเด็นดรั้มและสกุลออนซิเดี้ยม



                         จำแนกตามลักษณะลำต้น
    สำหรับลำต้นของกล้วยไม้ที่โผล่พ้นจากเครื่องปลูกแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ลำต้นแท้ และลำต้นเทียม






    ลำต้นแท้

คือจะมีข้อ ปล้อง เหมือนกับลำต้นของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วๆ ไป ที่ส่วนเหนือข้อจะมีตา ซึ่งสามารถเจริญเป็นหน่อใหม่ และช่อดอกได้ ลำต้นประเภทนี้จะเจริญเติบโตออกไปทางยอด ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า แมลงปอ และรองเท้านารี

                                                     ระบบรากกึ่งดิน

มีรากซึ่งมีลักษณะอวบน้ำใหญ่หยาบและแตกแขนงแผ่กระจายอย่างหนาแน่นสามารถเก็บสะสมน้ำได้ดีพอสมควร กล้วยไม้ประเภทนี้พบอยู่ตามอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังร่วนโปร่ง กล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งดิน ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลสเปโธกล๊อตติส สกุลเอื้องพร้าว เป็นต้น 



                      แหล่งที่มา  panmai.com

                  

วิธีการปลูก

วิธีการปลูก

วิธีการปลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบังคับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ถ้าใช้วิธีการปลูกที่ไม่เหมาะสม กล้วยไม้ก็ไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จึงจำเป็นต้องศึกษาความต้องการของกล้วยไม้แต่ละชนิด เลือกภาชนะปลูกและเครื่องปลูก รวมทั้งวิธีการปลูกให้เหมาะสมกับกล้วยไม้ชนิดนั้นๆ

ภาชนะปลูก

ภาชนะที่ใช้ในการปลูกกล้วยไม้มีส่วนสำคัญต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้ ดังนั้นจึงควรจัดภาชนะปลูกให้เหมาะกับการเจริญของรากกล้วยไม้แต่ละประเภท ภาชนะสำหรับปลูกกล้วยไม้มีหลายชนิด ดังนี้




                           

กระถางดินเผาทรงเตี้ย

เป็นกระถางดินเผาขนาดปากกว้าง 4-6 นิ้ว สูง 2-4 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและรอบกระถาง เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง การปลูกไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ มะพร้าวสับ วางให้โปร่งก็พอ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระถาง
                 
                             
                      กระถางดินเผาทรงสูง
    เป็นกระถางดินเผาขนาดปากกว้าง 3-4 นิ้ว สูง 4-5 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและรอบกระถางแต่รูน้อยกว่ากระถางทรงเตี้ย เหมาะกับกล้วยไม้ที่ต้องการเครื่องปลูกหรือกล้วยไม้รากกึ่งอากาศ เช่น คัทลียา หวาย โดยปลูกด้วยกาบมะพร้าวอัดเรียงตามแนวตั้งจนแน่น ยึดรากและโคนกล้วยไม้ตรงกลางกระถางให้แน่น

                                                                               
                                      

   กระเช้าไม้สัก

ทำจากไม้สักหรือไม้ชนิดอื่น นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม จตุรัส มีขนาดตั้งแต่ขนาด 4x4 นิ้ว ถึง 10x10 นิ้ว เหมาะกับ กล้วยไม้รากอากาศ มีต้นใหญ่ รากใหญ่ เช่น   กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง การปลูกด้วยกระเช้าไม้สักภายในไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ 2-3 ก้อนวางให้โปร่งก็พอ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระเช้า


                             
                             


กระเช้าพลาสติก
                                                                
    
เป็นกระเช้าที่ทำจากพลาสติกสีดำ ราคาถูก มีหลายแบบ หลายขนาด แต่ที่นิยมใช้มี 2 ขนาด คือ ขนาดทรงเตี้ยใช้ปลูกกล้วยไม้แวนด้า และ ขนาดทรงสูงใช้ปลูกกล้วยไม้หวาย ลักษณะการปลูกเช่นเดียวกับกระถางดินเผาทรงเตี้ยและกระถางดินเผาทรงสูง
    

                                                               
                             ท่อนไม้ที่มีเปลือก
โดยผูกกล้วยไม้ติดกับท่อนไม้ที่มีเปลือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต ปลายหนึ่งของท่อนไม้ยึดติดกับลวดไว้สำหรับแขวนกับราว เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลแวนด้า



                             

ต้นไม้ใหญ่

โดยการปลูกยึดติดกับต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศและรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลหวาย สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากอากาศสามารถใช้ลวดหรือเชือกผูกติดกับต้นไม้ได้เลย แต่สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากกิ่งอากาศให้หุ้มด้วยกาบมะพร้าวทับอีกชั้นหนึ่ง ยึดกาบมะพร้าวด้วยตาข่ายหรือซาแลนอีกชั้นหนึ่ง


                   เครื่องปลูก

วัสดุที่ใส่ลงไปในภาชนะที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ เป็นที่เก็บอาหาร เก็บความชื้น หรือปุ๋ยของกล้วยไม้ และเพื่อให้รากของกล้วยไม้เกาะ ลำต้นจะได้ตั้งอยู่ได้ เครื่องปลูกที่เหมาะสมกับลักษณะการเจริญเติบโตของรากกล้วยไม้จะทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตได้ดีและแข็งแรง เครื่องปลูกที่นิยมใช้มีดังนี้

ออสมันด้า

เป็นเครื่องปลูกที่ได้มาจากรากของเฟิร์น ลักษณะเป็นเส้นยาว สีน้ำตาลจนเกือบดำ ค่อนข้างแข็ง ก่อนที่จะใช้ต้องล้างให้สะอาด แล้วจึงอัดตามยาวลงไปในกระถาง ก่อนที่จะอัดลงในกระถางควรรองก้นกระถางด้วยกระเบื้องแตกหรือถ่านประมาณครึ่งหนึ่งของกระถาง เพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวกไม่ควรอัดออสมันด้าให้เต็มกระถาง ก่อนใช้ควรแช่น้ำหรือต้มเพื่อฆ่าเชื้อราเสียก่อน ออสมันด้าเป็นเครื่องปลูกที่ดี แต่ราคาค่อนข้างสูง สามารถเลี้ยงกล้วยไม้ได้เจริญงอกงามสม่ำเสมอ มีอายุการใช้งาน 2–3 ปี แต่มีข้อเสีย คือ มีตะไคร่น้ำขึ้นหน้าเครื่องปลูก และเกิดเชื้อราง่าย ออสมันด้าใช้ปลูกกล้วยไม้แบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา

กาบมะพร้าว

เป็นเครื่องปลูกที่นิยมใช้ปลูกกล้วยไม้มาก เพราะหาง่าย ราคาถูก เหมาะที่จะใช้อัดลงในกระถางดินเผาสำหรับใช้ปลูกกล้วยไม้รากกึ่งอากาศเช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา วิธีทำคือใช้กาบมะพร้าวแห้งที่แก่จัดและมีเปลือก อัดตามยาวให้แน่นลงในกระถาง ตัดหน้าให้เรียบ แล้วใช้แปรงลวดปัดหน้าให้เป็นขน เพื่อให้ดูดซับน้ำดีขึ้น เครื่องปลูกกาบมะพร้าวเป็นเครื่องปลูกที่ได้ความชื้นสูง เหมาะสำหรับกล้วยไม้ปลูกใหม่ เพราะจะทำให้ตั้งตัวเร็ว จึงทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามเร็วกว่าปลูกด้วยเครื่องปลูกชนิดอื่นๆ แต่มีข้อเสียคือมีอายุการใช้งานได้ไม่นาน คือมีอายุใช้งานได้เพียงปีเดียวเครื่องปลูกก็ผุ ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือเกิดตะไคร่น้ำได้ง่าย เนื่องจากกาบมะพร้าวอมความชื้นไว้ได้มาก จึงควรรดน้ำให้น้อยกว่าเครื่องปลูกชนิดอื่น

ถ่าน

ถ่านไม้จัดเป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้ที่ดีชนิดหนึ่ง เพราะหาง่าย ราคาไม่แพง คงทนถาวร ไม่เน่าเปื่อยผุพังง่ายและดูดอมน้ำได้ดีพอเหมาะไม่ชื้นแฉะเกินไป ยังช่วยดูดกลิ่นที่เน่าเสียและทำให้อากาศบริสุทธิ์อีกด้วย แต่มีข้อเสียคือมักจะมีเชื้อราอยู่ ในการใช้ถ่านเป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้ ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลแคทลียา ควรใช้ถ่านป่นซึ่งเป็นก้อนเล็กๆ ผสมกับอิฐ หรือใช้อิฐหักรองก้นกระถางประมาณครึ่งกระถาง แล้วใช้ถ่านป่นใส่ทับข้างบนจนเต็มหรือเกือบเต็มกระถาง จากนั้นจึงเอากล้วยไม้ปลูกโดยวางทับไว้บนถ่านอีกชั้นหนึ่ง สำหรับถ่านที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ ถ้าเป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กหรือยังเป็นลูกกล้วยไม้อยู่ เช่น มีขนาดสูงไม่เกิน 3 นิ้ว ควรใส่ถ่านก้อนเล็กๆ หรือใส่ถ่านป่นไว้บ้างพอสมควร แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดโดแล้วควรใส่ก้อนใหญ่ๆ ไว้ประมาณ 5-10 ก้อน เพื่อช่วยอุ้มความชุ่มชื้นไว้ให้กล้วยไม้ การที่ใส่ถ่านก้อนโตๆ จำนวนเล็กน้อยในการปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศก็เพื่อต้องการให้บริเวณภายในกระถางมีช่องว่างมากๆ และโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งเหมาะแก่ความต้องการหรือความเจริญเติบโตของกล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศ

ทรายหยาบและหินเกล็ด

การปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศโดยเฉพาะพวกสกุลหวาย มักใช้ทรายหยาบและหินเกล็ดที่ล้างสะอาดแล้วเป็นเครื่องปลูก โดยก้นกระถางใส่อิฐหักหรือหรือถ่านป่นไว้ ส่วนด้านบนใช้ทรายหยาบโรยหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยทับด้วยหินเกล็ดหนาประมาณครึ่งนิ้ว จากนั้นจึงนำหน่อกล้วยไม้ที่แยกจากกอเดิมไปปลูกวางไว้บนหินเกล็ด แล้วมัดติดกับหลักเพื่อยึดไม่ให้ล้มจนกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกใหม่นี้มีรากยึดเครื่องปลูกและตั้งตัวได้

อิฐหักและกระถางดินเผาแตก

อิฐหัก อิฐดินเผา และกระถางดินเผาแตก ใช้เป็นเครื่องปลูกรองก้นกระถางสำหรับปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศ โดยมีออสมันด้า กาบมะพร้าว ถ่านป่น อย่างใดอย่างหนึ่งอัดหรือโรยไว้ข้างบน เพื่อให้ด้านล่างของกระถางหรือภาชนะปลูกโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวกและเป็นการช่วยในการระบายน้ำในกระถางได้ดีขึ้น

                                        วิธีการปลูก

การล้างลูกกล้วยไม้

คือการล้างลูกกล้วยไม้จากการเพาะเนื้อเยื่อออกจากขวดเพาะแล้วล้างให้หมดเศษวุ้นอาหาร นำจุ่มลงในน้ำยานาตริฟินในอัตราส่วนน้ำยา 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 2,000 ส่วน แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แยกลูกกล้วยไม้ออกเป็น 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กกับขนาดใหญ่พอจะปลูกลงในกระถางนิ้ว

การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก

ลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กให้ปลูกในกระถางหมู่หรือกระถางดินเผาทรงสูงขนาด 4-6 นิ้ว รองก้นกระถางด้วยถ่านขนาดประมาณ 1 นิ้ว สูงจนเกือบถึงขอบล่างของกระถาง แล้วโรยทับด้วยออสมันด้าหนาประมาณ 1 นิ้ว ให้ระดับออสมันด้าต่ำกว่าขอบกระถางประมาณครึ่งนิ้ว ใช้มือข้างหนึ่งจับไม้กลมๆ เจาะผิวหน้าออสมันด้าในกระถางให้เป็นรูลึกและกว้างพอสมควร ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับปากคีบ คีบลูกกล้วยเบาๆ เอารากหย่อนลงไปในรูที่เจาะไว้ ให้ยอดตั้งตรง แล้วกลบออสมันด้าลงไปในรูให้ทับรากจนเรียบร้อย ควรจัดระยะห่างระหว่างต้นให้พอดี กระถางหมู่ขนาดปากกว้าง 4 นิ้ว ปลูกลูกกล้วยไม้ได้ประมาณ 40-50 ต้น

การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่

ลูกกล้วยไม้ที่ต้นใหญ่ให้ปลูกในกระถางขนาด 1 นิ้ว ใช้ไม้แข็งๆ ค่อยๆ แคะออสมันด้าในกระถางตามแนวตั้งออกมาใช้นิ้วมือรัดเส้นออสมันด้าให้คงเป็นรูปตามเดิม ค่อยๆ แบะออสมันด้าให้แผ่บนฝ่ามือ หยิบลูกกล้วยไม้มาวางทับ ให้โคนต้นอยู่ในระดับผิวหน้าตัดของออสมันด้าพอดี หรือต่ำกว่าเล็กน้อย แล้วรวบออสมันด้าเข้าด้วยกัน นำกลับไปใส่กระถางตามเดิม เสร็จแล้วนำเข้าไปเก็บไว้ในเรือนเลี้ยงลูกกล้วยไม้ สำหรับลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กที่อยู่ในกระถางหมู่มาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป มีลำต้นใหญ่แข็งแรงพอสมควรแล้วควรย้ายไปปลูกลงในกระถางนิ้ว โดยนำกระถางหมู่ไปแช่น้ำประมาณ 10 นาที ค่อยๆ แกะรากที่จับกระถางและเครื่องปลูกออก แยกเป็นต้นๆ นำไปปลูกลงในกระถางนิ้วเช่นเดียวกัน

การปลูกลงในกระเช้า

เมื่อลูกกล้วยไม้ในกระถางนิ้วมีรากเจริญแข็งแรงดี มีใบยาวประมาณข้างละ 2 นิ้ว ซึ่งจะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 6-7 เดือน ก็นำไปลงปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 3-5 นิ้ว ด้วยการนำกระถางนิ้วไปแช่น้ำประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้แกะออกจากกระถางได้ง่าย ใช้นิ้วดันที่รูก้นกระถาง ทั้งต้นและออสมันด้าจะหลุดออกมา มือข้างหนึ่งจับออสมันด้าและลูกกล้วยไม้วางลงตรงกลางกระเช้าที่เตรียมไว้ มืออีกข้างหนึ่งหยิบก้อนถ่านไม้ขนาดพอเหมาะใส่ลงไปในช่องระหว่างออสมันด้ากับผนังของกระเช้าให้พยุงลำต้นได้ นำไปแขวนไว้ในเรือนกล้วยไม้

การย้ายภาชนะปลูก

เมื่อลูกกล้วยไม้มีใบยาว 4-5 นิ้ว ควรจะย้ายไปปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 8-10 นิ้ว โดยสวมกระเช้าเดิมลงไปในกระเช้าใหม่เพื่อมิให้รากกระทบกระเทือน ใช้ก้อนถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ วางเกยกันโปร่งๆ หรือจะไม่ใช้เลยก็ได้ เนื่องจากกล้วยไม้ไม่ต้องการเครื่องปลูกที่แน่นและชื้นแฉะเป็นเวลานานๆ ถ้าไม่ต้องการสวมกระเช้าเดิมลงไปก็นำกระเช้าเดิมไปแช่น้ำก่อน เพื่อให้แกะรากที่จับติดกระเช้าออกได้ง่าย นำต้นที่แกะออกแล้ววางตรงกลางกระเช้า ให้ยอดตั้งตรง มัดรากบางรากให้ติดกับซี่พื้นด้านข้างของกระเช้า

การตกแต่งกล้วยไม้ต้นใหญ่ก่อนปลูก

สำหรับกล้วยไม้ลำต้นใหญ่ที่ได้มาจากที่อื่นหรือจากการแยกหน่อ จะต้องตัดรากและใบที่เน่าหรือเป็นแผลใหญ่ๆ ทิ้งเสียก่อน รากบางส่วนที่ยังดีแต่ยาวเกินไป อาจตัดให้สั้นจนเกือบถึงโคนต้น แล้วทาแผลที่ตัดทุกแผลด้วยปูนแดงหรือยาป้องกันโรค เช่น ออร์โธไซด์ 50 ผสมน้ำให้เละมากๆ นำต้นกล้วยไม้ลงปลูกในกระเช้าไม้ซึ่งมีขนาดเหมาะสมกับลำต้น
นอกจากนั้นยังอาจนำกล้วยไม้ต้นใหญ่ไปผูกติดกับท่อนไม้หรือกระเช้าสีดา ให้บริเวณโคนต้นติดอยู่กับภาชนะปลูก ส่วนยอดอาจตั้งตรงทาบขึ้นไปหรือลำต้นโน้มไปข้างหน้าและส่วนยอดเงยขึ้น มัดลำต้นตรงบริเวณเหนือโคนต้นขึ้นไปเล็กน้อยให้ติดกับภาชนะปลูกด้วยเชือกฟางหรือลวด 1-2 จุดและมัดรากใหญ่ๆ ให้ติดกับภาชนะปลูกอีก 1-2 จุด เพื่อให้ติดแน่น อาจใช้กาบมะพร้าวกาบอ่อนชุบน้ำให้ชุ่ม มัดหุ้มบางๆ รอบโคนต้นกล้วยไม้เหนือบริเวณที่เกิดรากเล็กน้อยกับท่อนไม้ก็ได้ และนำท่อนไม้หรือกระเช้าสีดาไปแขวนบนราวเมื่อเกิดรากใหม่เกาะติดภาชนะปลูกดีแล้ว จึงตัดเชือกฟางหรือลวดออก




         แหล่งที่มา    panmai.com

ประวัติกล้วยไม้

ประวัติกล้วยไม้


กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orchidaceae เป็นไม้ตัดดอกยอดนิยม เนื่องจากมีลักษณะดอกและสีสันลวดลายสวยงาม เป็นไม้ตัดดอกที่มีอายุการใช้งานได้นาน กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เพราะเป็นไม้ส่งออกขายต่างประเทศทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท มีการปลูกเลี้ยงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผสมเกสร เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลี้ยงลูกกล้วยไม้ เลี้ยงต้นกล้วยไม้จนกระทั่งให้ดอก ตัดดอกบรรจุหีบห่อและส่งออกเองอกเอง


         แหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าที่สำคัญของโลกมี 2 แหล่งใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ลาตินอเมริกา กับเอเชียแปซิฟิค สำหรับในลาตินอเมริกาเป็นอาณาบริเวณอเมริกากลางติดต่อกับเขตเหนือของอเมริกาใต้ ส่วนแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง จากการค้นพบประเทศไทยมีพันธุ์กล้วยไม้ป่าเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้มาก และกล้วยไม้ป่าที่ในพบในภูมิภาคแถบนี้มีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างจากกล้วยไม้ในภูมิภาคลาตินอเมริกา





การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย
จากการสำรวจในอดีตพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้อยู่ในป่าธรรมขาติไม่ต่ำกว่า 1,000 ชนิด ทั้งประเภทที่พบอยู่บนต้นไม้ บนพื้นผิวของภูเขาและบนพื้นดิน สรุปได้ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของประเทศไทยเอื้ออำนวยแก่การเจริญงอกงามของกล้วยไม้เป็นอย่างมาก ในอดีตชาวชนบทของไทย โดยเฉพาะในแหล่งที่เคยมีกล้วยไม้ป่าอุดมสมบูรณ์ ได้นำกล้วยไม้ป่ามาปลูกเลี้ยงโดยเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำกล้วยไม้มาปลูกไว้กับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ บ้านเรือน การเลี้ยงกล้วยไม้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการปลูกเลี้ยงอย่างจริงจังโดยชาวตะวันตกผู้หนึ่ง ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เห็นว่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จึงได้สร้างเรือนกล้วยไม้อย่างง่ายๆ และนำเอากล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากกล้วยไม้ในเอเชียและเอเชียแปซิฟิค โดยนำมาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรกในขณะเดียวกันก็มีเจ้านายชั้นสูงและบรรดาข้าราชการที่ใกล้ชิด ให้ความสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มบุคคลสูงอายุซึ่งเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อความสุขทางใจ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ อย่างไรก็ตามการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีเงินในยุคนั้น และเป็นการปลูกเลี้ยงที่นิยมกล้วยไม้พันธุ์ต่างประเทศ ส่วนกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าของประเทศไทยจะนิยมและยกย่องเฉพาะพันธุ์ที่หายากและมีราคาแพง







หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี 2475 สภาพการเลี้ยงก็ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบเช่นเดิม แต่ผลงานเกี่ยวกับการผสมพันธุ์กล้วยไม้ในต่างประเทศเริ่มมีอิทธิพลกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องกับวงการกล้วยไม้ในประเทศไทยสนใจกล้วยไม้ลูกผสมมากขึ้น มีการสั่งกล้วยไม้ลูกผสมจากประเทศในทวีปยุโรป สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เพื่อนำเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทย
การพัฒนาการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ เป็นไปอย่างจริงจัง เมื่อประมาณปี 2493 โดยได้มีการวิจัย นับตั้งแต่การรวบรวมปลูกในระดับพื้นฐาน ต่อมาในปี 2497 ได้เริ่มเปิดการฝึกอบรมการเลี้ยงกล้วยไม้ให้แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป และมีการจัดตั้งชมรมกล้วยไม้ขึ้นในปี 2498 ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมาคมกล้วยไม้เมื่อปี 2500 และในปีเดียวกันนี้ ได้เริ่มมีการนำเอาความรู้ในเรื่องกล้วยไม้และแนวความคิดในการพัฒนาวงการกล้วยไม้ออกเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ และมีการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์เผยแพร่ ทำให้วงการกล้วยไม้ของประเทศไทย ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีการจัดตั้งสมาคมและสโมสรเกี่ยวกับกล้วยไม้ขึ้นในภาคและจังหวัดต่างๆ
ในปี 2501 ได้มีการเปิดการสอนวิชากล้วยไม้ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก เพื่อผลิตนักวิชาการและพัฒนางานวิจัยกล้วยไม้ของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ได้จำกัดอยู่ภายในวงแคบอีกต่อไป จากการส่งเสริมดังกล่าว ทำให้มีการนำเข้ากล้วยไม้ลูกผสมจากต่างประเทศ เช่น จากฮาวายและสิงคโปร์จำนวนมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่มีความรู้หันมารวบรวมพันธุ์ผสมและเพาะพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ ทั้งที่เป็นพ่อแม่พันธุ์จากป่า และลูกผสมที่สั่งเข้ามาแล้วในอดีต
ปี 2506 วงการกล้วยไม้ของไทยได้เริ่มมีแผนในการขยายข่ายงานออกไปประสานกับวงการกล้วยไม้สากล เพื่อยกระดับวงการกล้วยไม้ในประเทศให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ
ปี 2509 เริ่มการทำสวนกล้วยไม้ตัดดอกอย่างจริงจัง เมื่อไทยเริ่มส่งออกกล้วยไม้ไปสู่ตลาดต่างประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ต่อมาจึงขยายตลาดไปสู่ประเทศญี่ปุ่น แคนาดา และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา
                                                 


แหล่งที่มา   panmai.com